ระยะที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๓๖)
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้รับอนุมัติในหลักการจากทบวงมหาวิทยาลัยให้เปลี่ยนสถานะจาก “สถานีวิจัยศรีราชา” เป็น “วิทยาลัยชุมชนศรีราชา” เพื่อให้บริการการศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์แก่ชุมชน การบริการห้องสมุด ศูนย์วัฒนธรรมชุมชนสัมพันธ์ ศูนย์สุขภาพและนันทนาการ โดยได้จัดตั้งสำนักการศึกษาต่อเนื่องเพื่อจัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ตามความต้องการของชุมชน และจัดตั้งสถาบันค้นคว้าเพื่อพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพื่อทำการค้นคว้าวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยเฉพาะทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา
ระยะที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๗ - ๒๕๔๑)
ต่อมามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาการให้บริการวิชาการแก่ชุมชนของวิทยาลัยชุมชนศรีราชาให้สามารถทำการผลิตบัณฑิตได้ จึงมีนโยบายปรับเปลี่ยนการบริหารงานและรูปแบบการดำเนินงานของ “วิทยาลัยชุมชนศรีราชา” ให้เป็น “โครงการจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา” เพื่อทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระดับสูงเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยมีภารกิจหลักในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีขึ้นไป และจัดแบ่งโครงสร้างประกอบด้วยหน่วยงานภายใน ๕ หน่วยงาน ได้แก่
๑. โครงการจัดตั้งคณะวิทยาการจัดการ เพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านการบริหารและจัดการธุรกิจ เริ่มรับนิสิตตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๓๙
๒. โครงการจัดตั้งคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม เพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม เริ่มรับนิสิตตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๐
๓. โครงการจัดตั้งคณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เพื่อผลิตบัณฑิตทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อม เริ่มรับนิสิตตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๔๐
๔. โครงการจัดตั้งสำนักงานวิทยาเขต เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารธุรการและสนับสนุนการเรียนการสอน
๕. โครงการจัดตั้งสำนักบริการวิทยาการ เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับ การบริการการเรียนการสอน การบริการห้องปฏิบัติการ การบริการวิชาการแก่ชุมชน และการส่งเสริมการวิจัย
ระยะที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๔๒ - ๒๕๔๖)
การประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งที่ ๓/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๒ ได้มีมติอนุมัติกำหนดฐานะจาก “โครงการจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา” เป็น “วิทยาเขตศรีราชา” ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องการกำหนดเขตการศึกษาเป็นวิทยาเขต ประกาศ ณ วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๒ เพื่อประกาศเป็นเขตการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งวิทยาเขตศรีราชา ดังนี้
๑. เพื่อเป็นแหล่งให้การศึกษาที่สามารถผลิตกำลังคนระดับสูง และพัฒนาคุณภาพกำลังคนให้ได้มาตรฐานตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามแผนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกและของประเทศโดยรวม
๒. เพื่อเป็นแหล่งให้บริการทางวิชาการแก่สังคม โดยการจัดฝึกอบรม การพัฒนาวิชาชีพ และการให้คำปรึกษาทางวิชาการกับหน่วยงานภาคเอกชนและภาครัฐบาลทั้งอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมบริการ พาณิชยกรรม การขนส่งและการเกษตร รวมทั้งอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๓. เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและวิจัยสาขาต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการผลิต การขนส่ง การจัดการ และการบริการ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาภูมิภาคและการพัฒนาประเทศ
๔. เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและให้บริการข้อมูลข่าวสาร การจัดระบบข้อมูลและสารสนเทศเพื่อการศึกษา การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรม การพาณิชยกรรม การค้า การขนส่งและการเกษตร ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีเครือข่าย การเชื่อมโยงทั่วโลก
๕. เพื่อเป็นแหล่งส่งเสริมและฟื้นฟู ให้เกิดความสำนึกและรับผิดชอบที่ดีต่อสังคม ตลอดจน การอนุรักษ์และบำรุงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับภูมิภาคและระดับชาติ
การกำหนดเขตการศึกษาเป็นวิทยาเขตนั้น วิทยาเขตศรีราชาได้กำหนดหลักการและแนวนโยบายการบริหารจัดการวิทยาเขตไว้ดังนี้
๑. ให้เป็นสถานศึกษาที่ผลิตและพัฒนากำลังคนและการวิจัยขั้นสูงที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อรองรับการพัฒนาภูมิภาค
๒. จัดองค์กรและรูปแบบการบริหารที่กะทัดรัด สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๓. จัดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ให้ประโยชน์ต่อการศึกษา การให้บริการวิชาการและการพัฒนาภูมิภาค
๔. กำหนดกลุ่มแกนวิชาการและวิชาชีพที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคและภูมิประเทศ
๕. จัดการศึกษาโดยการผนึกกำลังและร่วมมือระหว่างสถานประกอบการตามคำที่ว่า “โรงเรียนคู่โรงงาน สถานประกอบการคู่การศึกษา” เพื่อการผลิตการพัฒนากำลังคนร่วมกัน ตลอดจนการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาจากระดับห้องปฏิบัติการสู่ระดับอุตสาหกรรม
๖. บริหารหลักสูตรในรูปแบบของโครงการ (Program Management) โดยไม่ต้องมีหน่วยงานระดับภาควิชา ซึ่งเป็นกลไกการจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพความต้องการกำลังคนของสังคม โดยไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างขององค์กร
ต่อมา การประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งที่ ๑๒/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๒ ได้อนุมัติให้มีการแบ่งส่วนราชการภายในวิทยาเขตเป็น ๕ หน่วยงานหลัก ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง จัดตั้งคณะและสำนักในวิทยาเขตศรีราชา ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๒ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานดังต่อไปนี้
๑. คณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
๒. คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ซึ่งการประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ ๑๑/๒๕๔๓ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ได้รับอนุมัติให้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา” ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง การเปลี่ยนชื่อคณะในวิทยาเขตศรีราชา ประกาศ ณ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
๓. คณะวิทยาการจัดการ
๔. สำนักงานวิทยาเขต
๕. สำนักบริการวิทยาการ |
ระยะที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๔๗ - ปัจจุบัน)
วิวัฒนาการของวิทยาเขตศรีราชาระยะที่ ๔ นั้น สามารถลำดับวิวัฒนาการและพัฒนาการของวิทยาเขตศรีราชาได้ดังต่อไปนี้
๑. การประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งที่ ๙/๒๕๔๗ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๗ อนุมัติให้จัดตั้ง “บัณฑิตศึกษาสถาน” ให้เป็นหน่วยงานภายในที่มีสถานภาพเทียบเท่าคณะ ทำหน้าที่จัดการเรียนการสอนในระดับที่ให้ปริญญาและประกาศนียบัตรบัณฑิตในหลักสูตรสหวิทยาการที่ตอบสนองการพัฒนาเขตเศรษฐกิจบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และเป็นหน่วยงานกลางในการให้บริการด้านการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ โดยมีลักษณะการดำเนินงานเป็นทั้ง Graduate School และ Cluster of Knowledge ในลักษณะ Integrated Program ตามประกาศสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่อง จัดตั้งบัณฑิตศึกษาสถาน วิทยาเขตศรีราชา ประกาศ ณ วันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๗
๒. การประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งที่ ๑/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๔๘ อนุมัติให้ปรับเปลี่ยนชื่อ “สำนักบริการวิทยาการ” เป็น “สำนักวิทยบริการ” โดยมีการแบ่งหน่วยงานภายในเป็น ๔ ฝ่าย ได้แก่
๑. สำนักงานเลขานุการ
๒. ฝ่ายเทคโนโลยีทางการศึกษา
๓. ฝ่ายบริการคอมพิวเตอร์
๔. ฝ่ายห้องสมุด
๓. การประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ ๔/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๙ อนุมัติให้ปรับโครงสร้างของสำนักงานวิทยาเขตศรีราชาใหม่ โดยมีการแบ่งหน่วยงานภายในเป็น ๕ ฝ่าย ได้แก่
๑. ฝ่ายบริหาร
๒. ฝ่ายการศึกษา
๓. ฝ่ายกิจการนิสิต
๔. ฝ่ายอาคารสถานที่และยานพาหนะ
๕. ฝ่ายทรัพย์สินและสิทธิประโยชน์
๔. การประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งที่ ๑๑/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ อนุมัติให้จัดตั้ง “วิทยาลัยพาณิชยนาวีนานาชาติ” เป็นหน่วยงานที่มีฐานะเทียบเท่าคณะสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการศึกษา วิจัย ผลิตและพัฒนากำลังคนด้านพาณิชยนาวี รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานงานกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อจัดการพาณิชยนาวีทั้งระบบของประเทศให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ซึ่งแบ่งหน่วยงานภายในเป็น ๓ ฝ่าย ได้แก่
๑. ฝ่ายบริหารและธุรการทั่วไป
๒. ฝ่ายบริหารการศึกษา
๓. ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
๕. การประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งที่ ๙/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๐ ได้อนุมัติให้มีการเปลี่ยนชื่อ “บัณฑิตศึกษาสถาน” เป็น “วิทยาลัยบัณฑิตศึกษา ศรีราชา” (College of Graduate Studies at Si Racha) ประกาศ ณ วันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๕๐ โดยมีการแบ่งส่วนหน่วยงานภายในดังนี้
๑. สำนักงานคณบดี
๒. ฝ่ายบริการการศึกษา
๓. ฝ่ายจัดการศึกษา
๖. การประชุมสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๒ อนุมัติให้สำนักวิทยบริการปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในเป็น ๕ ฝ่าย ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๒ ซึ่งประกอบด้วยฝ่ายต่าง ๆ ดังนี้
๑. สำนักงานเลขานุการ
๒. ฝ่ายเทคโนโลยีการศึกษา
๓. ฝ่ายบริการคอมพิวเตอร์
๔. ฝ่ายห้องสมุด
๕. ฝ่ายซ่อมบำรุง
๗. การประชุมครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๓ ได้เปลี่ยนชื่อ “วิทยาลัยบัณฑิตศึกษา ศรีราชา” เป็น “คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา” ประกาศ ณ วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ และปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในคณะใหม่ดังนี้
๑. สำนักงานเลขานุการ
๒. ส่วนงานจัดการศึกษา
๓. ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ
๘. การประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๔ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ได้เปลี่ยนชื่อ “คณะทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม” เป็น “คณะวิทยาศาสตร์ ศรีราชา” และปรับโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในใหม่ดังนี้
๑. สำนักงานเลขานุการ
๒. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
๓. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานและพลศึกษา
๔. สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์
|